ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ

ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

รางวัล “มหิดลทยากร” ประจำปี 2566

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จบการศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2512 ได้เข้าทำงานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และไปอบรมศึกษาต่ออายุรแพทย์ด้านระบบทางเดินหายใจ ได้รับ Diplomate American Board of Internal Medicine ประเทศสหรัฐอเมริกา และเฟลโลชีพ ทางระบบทางเดินหายใจ ในปี พ.ศ.2518 ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับโรคปอดและระบบทางเดินหายใจ ซึ่งสมัยนั้นโรคที่เป็นกันมากคือ “วัณโรค” จึงได้ทำงานด้านนี้เป็นหลัก จนกระทั่งปี พ.ศ.2529 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในสมัยนั้น ได้ริเริ่ม “โครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่” ได้เชิญชวนให้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานด้านการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งรับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และดำเนินโครงการรณรงค์เกี่ยวกับบุหรี่มาโดยตลอด ทั้งเผยแพร่สื่อและให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป ตลอดจนผลักดันนโยบายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบให้เกิดขึ้น จนภายหลังได้เปลี่ยนชื่อจากโครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่เป็น “มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่” โดยมีพันธกิจหลักที่ต้องดำเนินการคือ 1.เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยยาสูบ อันตรายจากควันบุหรี่มือสอง 2.การสร้างเครือข่ายรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 3.การชี้แนะ/เสนอแนะ ผลักดันนโยบายควบคุมยาสูบ โดยทำงานร่วมกับกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.)

“บุหรี่” เป็นปัญหาใหญ่ของคนไทยมาโดยตลอด ถึงแม้จะมีการรณรงค์ต่อเนื่องมาเกือบ 40 ปี ซึ่งอัตราส่วนการสูบบุหรี่มีแนวโน้มลดลง จากเมื่อก่อนที่ผู้ชายไทยมีการสูบบุหรี่มากกว่า 60% และลดลงเหลือ 34% แต่ด้วยประชากรที่เพิ่มมากขึ้นทำให้จำนวนผู้สูบบุหรี่ยังทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคน แม้ว่าอัตราการสูบจะลดลงไป 50% ก็ตาม ก็ยังมีคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่และได้รับอันตรายจากควันบุหรี่มือสอง ประมาณ 70,000 คน/ปี และยังมีผู้ป่วยที่ต้องดูแลรักษาด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ จากการสูบบุหรี่ ประมาณ 1,200,000 คน ผู้ที่สูบบุหรี่ คือผู้ที่เสพติดนิโคติน ทั้งที่รู้ว่ามีโทษ มีพิษ แต่ก็ยังเลิกไม่ได้ ถือเป็นเรื่องยาก นอกจากนี้ยังมีเรื่องของธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้การควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบเป็นเรื่องที่ยาก แม้ว่าจะมีการผลักดันระเบียบมาบังคับใช้ อาทิ การกำหนดมาตรการขึ้นภาษีผลิตภัณฑ์ยาสูบ การควบคุมบุหรี่หนีภาษีให้มีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่การแทบจะไม่เก็บภาษียาเส้น จากการประเมินพบว่า ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบหลาย ๆ ด้าน ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดที่ควรนำมาใช้ในการแก้ปัญหาคือ การห้ามขาย ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ ๆ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลไทยใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบเขียนไว้ดีระดับหนึ่งแล้ว แต่ปัญหาหลักอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย ไม่ใช่เฉพาะปัญหาด้านยาสูบแต่คือเป็นปัญหาในทุกด้านของประเทศ ด้วยธุรกิจยาสูบเป็นธุรกิจที่มีผลกำไรสูงมากจึงก่อให้เกิดการคอร์รัปชันที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดความหย่อนยาน ไม่มีประสิทธิภาพ อีกทั้ง ผู้ผลิตยังหาช่องทางเพิ่มยอดขายด้วยการผลิตบุหรี่ไฟฟ้าจนกลายเป็นปัญหาใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา เพราะบุหรี่ไฟฟ้าได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เป็นแฟชั่นของเด็กนักเรียน วัยรุ่น ถือเป็นการเสพติดนิโคตินเหมือนกันเพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ จึงทำให้ปริมาณคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แพร่หลายในกลุ่มเด็กเล็ก  เยาวชน และผู้ใหญ่อายุน้อย จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ

มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะที่เป็นมหาลัยด้านสุขภาพที่มีความน่าเชื่อถือ จึงมีบทบาทสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงไปในระดับหนึ่ง อีกทั้งต้องเข้ามาช่วยป้องกันเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากประชาชนจำนวนมากยังไม่ทราบถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า และมีความเชื่อที่ผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยและทำให้เลิกบุหรี่ได้ เราจึงต้องช่วยกันรณรงค์ป้องกันบุหรี่ไฟฟ้า โดยให้ความรู้แก่ประชาชน พร้อมทั้งชี้แนะและผลักดันนโยบายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นประโยชน์กับประเทศต่อรัฐบาล เพื่อให้เกิดกฎหมายควบคุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ไว้ปกป้องเด็กและเยาวชนไทยให้ห่างไกลจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งจะเป็นปัญหาในอนาคตไปอีกนาน จึงอยากฝากถึงเด็ก และผู้ปกครอง เกี่ยวกับพิษภัยและอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า เพราะเริ่มมีหลักฐานปรากฏออกมาอย่างต่อเนื่องว่า ไอระเหยบุหรี่ไฟฟ้าประกอบด้วย สารก่อมะเร็ง โลหะหนัก และสารอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว ทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคปอดอักเสบ ฯลฯ ในคนที่อายุน้อยได้

“จงอย่านำตัวเองไปเป็นหนูทดลองให้แก่บุหรี่ไฟฟ้า”

สุดท้ายนี้ ผมรู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัล “มหิดลทยากร” ประจำปี 2566 อันทรงคุณค่านี้ ขอขอบคุณคณะกรรมการทุกท่าน ที่เห็นความสำคัญในสิ่งที่ผมทำเกี่ยวกับการรณรงค์เรื่องบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ขอให้รางวัลที่ผมได้รับนี้ เป็นแรงกระตุ้นผลักดันให้ทุกฝ่ายเล็งเห็นถึงความสำคัญ และตื่นตัวในการแก้ไขปัญหาเรื่องอันตรายและพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ซึ่งคนไทยต้องร่วมกันรณรงค์ต่อไป โดยเฉพาะ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ต้องมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพผ่านแวดวงวิชาการ จะเป็นประโยชน์มหาศาลให้กับประเทศ ผ่านการผลักดันให้ผู้กำหนดนโยบายระดับประเทศต้องให้ความสำคัญในการกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยไม่เข้าไปเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า