การส่งเสริมและกระตุ้นให้เลิกสูบบุหรี่ด้วยการพัฒนาทักษะการให้คำปรึกษา
เพื่อเลิกบุหรี่ในรูปแบบวิดีโอ

รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินธร กลัมพากร คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รองศาสตราจารย์ ดร.อรสา พันธ์ภักดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การให้คำปรึกษาและข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบบุหรี่จึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะพยาบาล ซึ่งเป็นผู้ที่ดูแลผู้ป่วยโดยตรงจึงมีบทบาทในการให้ข้อมูลด้านสุขภาพ และให้คำปรึกษาเพื่อช่วยให้ผู้สูบบุหรี่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ 

จากปัญหาที่พบในการให้คำปรึกษาผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ คือ พยาบาลยังมีทักษะไม่เพียงพอ เนื่องจากการเรียนหลักสูตรพื้นฐานอาจไม่เพียงพอต่อการพัฒนาสมรรถนะของพยาบาล จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสื่อเพื่อให้คำปรึกษาการเลิกสูบบุหรี่ โดยนำสื่อรูปแบบวิดีโอเป็นตัวช่วยในการพัฒนาพยาบาลให้มีสมรรถนะ สามารถให้คำปรึกษาช่วยให้ผู้สูบเลิกบุหรี่ได้ จากงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ได้ทำการสำรวจพยาบาลทั่วประเทศกว่า 1000 คน พบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่ไม่ได้รับคำแนะนำหรือชักชวนให้เลิกสูบบุหรี่อย่างเหมาะสม เป็นเพียงการคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น ทำให้ผู้สูบบุหรี่ยังสูบบุหรี่ต่อไป หากพยาบาลมีทักษะในการสื่อสาร อธิบาย ให้แนะนำคนไข้ให้เลิกบุหรี่ และให้คำปรึกษาอย่างถูกต้อง ก็จะส่งเสริมให้ผู้สูบบุหรี่ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องเลิกบุหรี่ รู้วิธีในการปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อที่จะเลิกบุหรี่ได้ และทำการเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ทำให้ปัจจัยเสี่ยงเรื่องบุหรี่ลดลง นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดัน รวมถึงโรคอื่นๆในกลุ่ม NCDs อีกด้วย
การพัฒนาสื่อวิดีโอในการพัฒนาทักษะครั้งนี้มีรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งโดยปกติแล้วการพัฒนาศักยภาพทางการพยาบาลในด้านต่าง ๆ จะทำด้วยวิธีการอบรมและฝึกปฏิบัติ แต่วิธีดังกล่าวยังทำให้เข้าถึงกลุ่มพยาบาลไม่ได้มาก ขณะที่สื่อในรูปแบบวิดีโอสามารถดูเวลาใดก็ได้ นำกลับมาดูซ้ำเพื่อทบทวนใหม่ได้ ซึ่งมีประโยชน์ทั้งในเรื่องของการยืดหยุ่นของเวลาและการเรียนรู้ โดยสื่อวิดีโอที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การให้คำปรึกษาผู้สูบ ระยะไม่มั่นใจลังเล ไม่อยากเลิก และ 2. การให้คำปรึกษาผู้สูบ ระยะเตรียมตัว ตัดสินใจเลิก โดยสื่อทั้ง 2 เรื่อง มีวิธีการถ่ายทอดทักษะการสื่อสารที่แตกต่างกัน กับผู้สูบทั้งที่ไม่พร้อมจะเลิก และที่พร้อมจะเลิกสูบ นอกจากนั้นในตอนท้ายของวิดีโอยังมีการสรุปขั้นตอนต่าง ๆของการให้คำปรึกษาที่ใช้ในสื่อด้วย จากการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพยาบาล และนักศึกษาพยาบาล ชั้นปี 2- 4 กลุ่มละ 126 คน พบว่า หลังจากการดูวิดีโอ พยาบาลและนักศึกษาพยาบาลมีความรู้และมั่นใจมากขึ้นที่จะช่วยผู้สูบบุหรี่ให้เลิกบุหรี่
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าผู้สูบบุหรี่มีจำนวนลดลงเมื่อเทียบข้อมูลจากในอดีต จากเดิมมีจำนวนเกือบ 13 ล้านคน ปัจจุบันเหลือเพียง 9.9 ล้านคน แต่ที่ยังน่ากังวล คือ เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาวะกับวัยรุ่นไทยในปัจจุบัน แม้ว่าบุหรี่มวนจะมีจำนวนผู้สูบที่ลดลง โดยมีเป้าหมายในปี 2568 ให้ผู้สูบบุหรี่มวนลดลงเหลือ 9 ล้านคน แต่เป้าหมายที่แท้จริง คือ ไม่ควรให้มีผู้สูบบุหรี่เลย เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามายิ่งทำให้เป็นเรื่องยากที่จะทำให้มีผู้เลิกสูบบุหรี่ลดลง
นอกจากนี้ พิษภัยที่มากับบุหรี่มวน ยังทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอด มะเร็งปอด เป็นต้น ส่วนพิษที่มากับบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ ปอดอักเสบเฉียบพลัน หากสะสมไปเรื่อย ๆ จะทำให้การทำงานของปอดบกพร่อง และที่สำคัญสารนิโคติน (Nicotine) ที่อยู่ในบุหรี่ไฟฟ้า จะมีความเข้มเข้นมากกว่าบุหรี่มวน นั่นคือ เหตุผลที่ทำให้บุหรี่ไฟฟ้า “ติดง่ายและเลิกยาก”
องค์การอนามัยโลก WHO ได้กำหนดหลักการที่ช่วยคนไข้เลิกบุหรี่ โดยใช้หลักแนวคิด 5 A ได้แก่ Ask การสอบถามข้อมูลเบื้องต้น ถึงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ Advise การให้คำแนะนำถึงอันตราย ความเสี่ยงวิธีลด เลิกบุหรี่ Assess การประเมินว่าอาการ ความพร้อมและวิธีการบำบัดรักษาเฉพาะราย Assist การช่วยเหลือ สร้างแรงจูงใจในการบำบัดรักษา และ Arrange follow up การติดตามผล ทั้งระหว่างการรักษาและหลังการรักษา จะเห็นได้ว่าการคัดกรองเบื้องต้น การถาม การให้คำแนะนำ และติดตามผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่มีความสำคัญอย่างมาก ในสื่อวิดีโอมีการพัฒนาทักษะทั้ง 2 ชุดนี้ ส่งผลให้พยาบาลมีทักษะในการพูดกับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ เพื่อให้มีแรงจูงใจที่จะเลิกสูบมากขึ้น สามารถต่อสู้กับอาการที่ขาดนิโคติน และทำได้อย่างต่อเนื่อง จนเลิกบุหรี่ได้ ในอนาคตผู้วิจัยมีแผนจะพัฒนาต่อยอดเพื่อที่จะให้เป็นการศึกษาต่อเนื่อง สำหรับพยาบาล และนักศึกษาพยาบาล และอาจจะมีการเพิ่มสื่อวิดีโอ เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเพิ่มทักษะในการสื่อสารให้กับพยาบาลสามารถสื่อสารกับผู้รับบริการที่ต้องการเลิกบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป
งานวิจัยนี้ นอกจากเป็นเรื่องของการฝึกทักษะ ทางวิชาชีพของนักศึกษาพยาบาลและพยาบาลแล้ว หากมองในฐานะของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งถือได้ว่าเป็น “สถาบันการศึกษาชี้นำสังคมไทยปลอดบุหรี่” นั้นถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ ทั้งในเรื่องการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนเพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่ปลอดบุหรี่ และการจัดบริการวิชาการสู่ชุมชน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยทั้งในด้านการการจัดการศึกษาและในด้านการบริการสู่ชุมชนที่จะให้ความรู้หรือการพัฒนาทักษะในชุมชนวิชาชีพสุขภาพ ให้สามารถมาพัฒนาตัวเอง และให้บริการวิชาการคำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่ให้มีประสิทธิภาพ ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของคนไทย